นโยบายจริง ของ 30 บาทรักษาทุกโรค

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้แนวทางการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้สวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดของประเทศผ่าน "นโยบายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[3]

จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า" โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชนชาวไทย เมื่อนายแพทย์สงวนนำโครงการนี้ไปเสนอนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับการตอบรับ จนกลายมาเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น จนกลายเป็นนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในเวลาต่อมาเรียกขานกันในนาม "บัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว บัตรทองเริ่มต้นตั้งที่งบประมาณจากรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคมให้กับประชาชน แรกเริ่มมีงบประมาณให้หัวละ 1,250 บาท โดยไปขึ้นทะเบียนต่อกับโรงพยาบาลในเขตที่ตนอาศัยอยู่แล้ว เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารักษาตามที่ลงทะเบียนไว้ โรงพยาบาลก็ได้เงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยรักษาคนที่ป่วยลักษณะคล้ายกับการประกันสุขภาพ โดย สปสช.ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพเอาไว้ว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545[4] โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สิทธิหลักประกันสุขภาพ" หรือที่เคยรู้จักกันในนาม สิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพคือคนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างอื่นที่รัฐจัดให้

นอกจากนี้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ้านโครงการ 30 บาท ฯ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศ เช่น ตุรกี เกาหลีใต้ และเม็กซิโก ที่สามารถจัดให้มีสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนในประเทศ และแซงหน้าประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะมีความพยายามมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่สามารถจัดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดได้[3]